ค่างเต้น ๑

Canthium glabrum Blume

ชื่ออื่น ๆ
เขากวาง (ใต้); หูเสือ (เหนือ)
ไม้ต้น เปลือกเรียบถึงแตกเป็นร่องตี้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกันรูปไข่ หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงรูปไข่กลับ สุกสีม่วงคล้ำ เมล็ดรูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ มีสัน ๓ สัน ตามยาว ปลายมีจะงอยแหลม

ค่างเต้นชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๒-๑๔ ม. เปลือกเรียบถึงแตกเป็นร่องตื้น เปลือกชั้นในหยาบ สีน้ำตาลกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามในระนาบเดียวกัน รูปไข่ กว้าง ๓-๙ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายแหลม โคนมนถึงสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๓-๕ มม. ใบแห้งด้านบนสีน้ำตาลคลํ้า ด้านล่างสีน้ำตาลแกมเขียว

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบดอกสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกแหลมลึก ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกขนาดใกล้เคียงกัน ยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวไม่เกินปากหลอดกลีบดอกรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดดอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงรูปไข่กลับกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีสันตามยาวผล ๔ สัน ปลายผลมักมีวงกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ผลสุกสีม่วงคล้ำ เมล็ดรูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ มีสัน ๓ สันตามยาว ปลายมีจะงอยแหลม

 ค่างเต้นชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ต่างประเทศพบที่พม่า เวียดนาม และอินโดนิเชีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ค่างเต้น ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Canthium glabrum Blume
ชื่อสกุล
Canthium
คำระบุชนิด
glabrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
เขากวาง (ใต้); หูเสือ (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม